ปัญหาคาใจอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนหลายคนมักสงสัยกันก็คือ สมาร์โฟนของเราสามารถติดไวรัสได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนที่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ ก็อาจกังวลใจว่าสมาร์ทโฟนจะติดไวรัสจากคอมพิวเตอร์ เราลองมาดูกันค่ะว่ามันเป็นมายังไง และป้องกันไวรัสได้ทางไหนบ้าง
ไวรัสกับคอมพิวเตอร์
จริงๆ แล้วถ้าถามในทางเทคนิคก็ต้องบอกว่า หากเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณมีไวรัส โอกาสที่สมาร์ทโฟนจะรับไวรัสมาจากคอมพิวเตอร์ก็มีสูงมาก แต่อย่าเพิ่งกังวลใจมากจนเกินไปนัก เพราะถึงสมาร์ทโฟนของเราติดไวรัส แต่ถ้าไวรัสตัวนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานบนระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนที่เราใช้อยู่ ระบบต่างๆ ของสมาร์ทโฟนก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร
ในขณะนี้ไวรัสบนสมาร์ทโฟนยังไม่ถือว่าเป็นอันตรายที่ร้ายแรง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ไม่แน่เหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าสมาร์ทโฟนจะติดไวรัสได้ ก็มักจะมาจากการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ผู้ใช้ก็ควรหมั่นตรวจสอบไวรัสในคอมพิวเตอร์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และไม่นำสมาร์ทโฟนของตัวเองไปเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นการป้องกันในเบื้องต้น หรืออีกกรณีหนึ่งที่อาจพบได้คือไวรัสที่มาทางบลูทูธ ซึ่งก็สามารถป้องกันได้โดยการปิดบลูทูธทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน และตั้งค่าบลูทูธไว้ไม่ให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นโดยอัตโนมัติ
ข้อแนะนำในการป้องกันไวรัส
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังควรอัพเดทระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของคุณให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการติดตั้งแอพพลิเคชั่นจากบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ และหมั่นปิดการเชื่อมต่อหรือแอพพลิเคชั่นที่ไม่ได้ใช้งานทุกครั้ง เมื่อใช้บริการ Wi-fi สาธารณะ และเพื่อความสบายใจมากขึ้นคุณอาจจะติดตั้งแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับสมาร์ทโฟนได้ อย่างเช่น Norton 360 Multi-Device ที่สามารถใช้งานไดกับอุปกรณ์ไอทีเกือบทุกชนิด, Kaspersky Mobile Securit, F-Secure Mobile Anti-Virus, Trend Micro Mobile Security, Airscanner Mobile Antivirus, AVG antivirus free mobiliation, NetQueen และ Dr.Web Antivirus lite เป็นต้น (ลองหาโหลดแอพพลิเคชั่น ใน play store หรือ app store ได้ค่ะ)
อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการป้องกันไวรัสให้กับสมาร์ทโฟนคือ การเลือกใช้สมาร์ทโฟนจากค่ายที่มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นเป็นของตัวเอง อย่างเช่น สมาร์ทโฟนของ BlackBerry ที่มีระบบปฏิบัติการเฉพาะตัว ประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยสูงอย่าง BlackBerry 10 ซึ่งจริงๆ แล้วระบบปฏิบัติการอื่นอย่างเช่น Android ก็นับว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงไม่แพ้กัน แต่ด้วยความที่ระบบปฏิบัติการนี้ถูกใช้งานร่วมกันจากสมาร์ทโฟนหลายค่าย จึงน่าจะมีแนวโน้มตกเป็นเป้าโจมตีของบรรดาแฮกเกอร์ได้มากกว่า BlackBerry ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ อย่าลืมนะค่ะ บางครั้งการที่เรานิ่งนอนใจ อาจเป็นช่องทางที่ทำให้ไวรัสเหล่านี้ ขยายพันธุ์และส่งผลต่อการใช้งานเราได้ในอนาคตจ้า คราวหน้าเราจะมาแนะนำเรื่องดีๆเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกันอีกมากมาย อย่าลืมติดตามชมกันนะค่ะ